การขายตัดราคา คืออะไร
การตัดราคาขายสินค้า หมายถึง การขายสินค้าในราคาถูกกว่าคู่แข่งเพื่อหวังแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ขายของตัดราคา ถือเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ทำให้หลายธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การแข่งขันทางด้านราคาคือสมรภูมิอันดุเดือด วันนี้เราจึงนำสาระเกี่ยวกับการขายตัดราคามาฝากเพื่อให้ทุกคนได้ศึกษาตลอดจนสามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำไมในการทำธุรกิจ ถึงมีการขายตัดราคากัน
1.ธุรกิจขาดสภาพคล่อง
เมื่อธุรกิจกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ขาดเงินสดหรือหมุนเงินไม่ทัน อาจมีความจำเป็นต้องขายของตัดราคา เพื่อเรียกยอดเงินกลับเข้ามาจนทำให้มีสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น ไม่มีเหตุผลอะไรดีไปกว่าเพื่อความอยู่รอด
2.สร้างฐานลูกค้า
การตัดราคาขาย อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างฐานลูกค้า เหมาะกับธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีฐานลูกค้ามากนัก การขายตัดราคาช่วยเพิ่มจุดสนใจให้กับสินค้า ทำให้ผู้บริโภคสนใจสินค้าของคุณและได้รู้จักแบรนด์ของคุณมากขึ้นในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การขายตัดราคาอาจดึงดูดความสนใจได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น
คลิกอ่านเพิ่มเติม : เผย 5 เทคนิค รักษาฐานลูกค้าเก่า ที่ได้ผล มีการกลับมาซื้อซ้ำแน่นอน
3.ยึดตลาดสร้างความได้เปรียบ
ไม่ว่าธุรกิจไหนต่างก็ต้องการครองตลาดทั้งนั้น จึงมีการขายของตัดราคากันไปมา เหมือนการตอบโต้กลยุทธ์กัน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน ธุรกิจที่มีเงินทุนหนามักใช้กลยุทธ์นี้ฆ่าธุรกิจคู่แข่งที่เงินทุนน้อยกว่าเหมือนการตัดคู่แข่งให้ออกไปจากระบบ
4.ระบายสินค้า
เมื่อมีการสต๊อกสินค้าได้นานเกินไป อาจมาจากการคาดการณ์ผิดหรือสินค้าขายไม่ออก ตกเทรน ฯลฯ การขายของตัดราคาเป็นเหมือนการช่วยระบายสินค้า เพื่อป้องกันสินค้าหมดอายุหรือสินค้าเสื่อมราคา
5.สินค้าไม่มีจุดขาย
กรณีซื้อสินค้ามาขายต่อ หวังกำไรจากส่วนต่างแต่ปรากฏว่าสินค้านั้นๆ ขายไม่ออก ไม่มีจุดขายหรือหาความแตกต่างไม่ได้ ไม่มีอะไรโดดเด่นน่าสนใจ ทำให้จำเป็นต้องขายตัดราคา
ผลเสียของการขายตัดราคาแข่งกัน มีอะไรบ้าง
1. หากคุณใช้กลยุทธ์ขายของตัดราคา พึงระวัง เพราะอาจขายตัดราคาจนไม่มีกําไร ยิ่งมีเงินทุนไม่หนา ยิ่งมีโอกาสขาดทุนมาก บางคนไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน ยิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิม ดังนั้น ก่อนใช้กลยุทธ์นี้ต้องวางแผนให้ดีก่อน
2. การขายของตัดราคา หวังสร้างจุดสนใจให้สินค้าแต่อาจได้ผลแค่ในระยะสั้นหากสินค้าของคุณไม่มีคุณภาพมากพอท้ายที่สุดแล้วลูกค้าจะกลับลำไปหาเจ้าอื่นแทน
3. ขายตัดราคากับคู่แข่งที่มีฐานลูกค้าเยอะอยู่แล้ว มีโอกาสขาดทุนสูง ถึงแม้ว่าจะขายสินค้าในราคาถูกกว่าแต่ฐานลูกค้ามีน้อย ก็ทำให้ขายได้น้อยเช่นกัน การสร้างฐานลูกค้าบวกการสร้างความเชื่อใจคือสิ่งสำคัญมาก
ธุรกิจประเภทไหน ที่มักมีการตัดราคาขายสินค้ากันเยอะ
ปัจจุบันธุรกิจหลายๆ ธุรกิจมักใช้กลยุทธ์ขายตัดราคากันเยอะตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจที่ขายสินค้าแบบเดียวกัน, ธุรกิจที่เป็นตัวแทนจำหน่าย, ธุรกิจซื้อมา-ขายไป เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจซื้อมาขายไป ทั้งเราและเขาต่างพากันซื้อสินค้าชนิดเดียวกันมาขาย จนทำให้ไม่มีความแตกต่าง ดังนั้นจึงเกิดการลดราคาสินค้าขึ้น เพื่อทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น นอกจากนี้สำหรับธุรกิจที่เป็นตัวแทนจำหน่ายก็มีลักษณะที่คล้ายกัน คือหาความแตกต่างของสินค้าไม่เจอ จึงไม่มีจุดขาย ท้ายที่สุดแล้วต้องยอมขายตัดราคากันแม้จะได้กำไรจากส่วนต่างลดลงก็ตาม
คลิกอ่านเพิ่มเติม : รวม 7 ร้าน รับตัวแทนจำหน่ายฟรีไม่ต้องสต๊อกสินค้า ยอดนิยม มีทุนน้อยก็ขายได้
5 วิธีรับมือเมื่อเจอคู่แข่งขายตัดราคา
1.สร้างจุดเด่นให้สินค้า
แทนที่คุณจะเข้าไปสู้รบในสงครามขายตัดราคา จนอาจทำให้ขาดทุน ควรหันกลับมาสร้างจุดเด่นให้สินค้าตัวเองดีกว่า สินค้าที่ไม่มีจุดเด่น ลักษณะเหมือนกันทุกประการ ไม่แปลกใจเลยทำไมลูกค้าถึงตัดสินใจซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่า การสร้างจุดเด่นให้สินค้ามีด้วยกันหลายวิธี เช่น Story ให้สินค้า มีมาตรฐานรองรับสินค้าทุกชิ้น ปรับปรุงรูปลักษณ์หรือคุณสมบัติสินค้าให้ตอบโจทย์มากขึ้น เป็นต้น
2.ขายเป็นเซ็ท
หากเจอคู่แข่งตัดราคา ควรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ แทนที่จะมุ่งเน้นการขายตัดราคาให้เปลี่ยนมาขายแบบเซ็ทแทน วิธีนี้เป็นเหมือนการปกปิดราคาที่แท้จริง กลยุทธ์นี้สามารถใช้รับมือได้ในกรณีที่ต้นทุนของคุณสูงกว่าคู่แข่งแต่หากต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง บอกเลยว่าสบายมากเพราะถึงขายตัดราคายังไง คุณก็ยังได้เปรียบอยู่ดี
3.ตอบโต้ด้วยกลยุทธ์หลากหลาย
เมื่อคู่แข่งตัดราคาขายสินค้ากัน ต้องใจเย็นๆ แต่อย่าใจเย็นจนเกินไปหรือปล่อยให้เวลาร่วงเลยผ่านไปนาน ไม่อย่างนั้นธุรกิจของคุณไปไม่รอดแน่ เมื่อคู่แข่งเริ่มเปิดฉาก ขายตัดราคา ใช่ว่าจะตอบโต้ได้แค่การขายตัดราคาแต่คุณสามารถใช้กลยุทธ์อื่นๆ ตอบโต้ได้หลากหลาย เช่น ทำแคมเปญผ่อน 0% ขายแบบพ่วง ตลอดจนการเพิ่มเงื่อนไขต่างๆ นานาที่คู่แข่งไม่สามารถสู้ได้ เป็นต้น
4.เน้นการให้บริการ
การขายตัดราคา อาจไม่ใช่ทางออกเสมอไป ลองปรับเปลี่ยนมาเน้นการให้บริการ ใส่ใจการบริการลูกค้ามากขึ้นเพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า สำหรับตัวแทนขายสินค้าเองก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าคุณจะขายสินค้าชนิดเดียวกันแต่ถ้าบริการดีกว่าก็สามารถป้องกันตัวแทนขายตัดราคาได้ ไม่ต้องกังวลเลยว่าลูกค้าของคุณจะหายไปตราบใดที่บริการของคุณยังครองใจพวกเขาอยู่
5.ตีตลาดใหม่
อย่าจมปลักอยู่ในตลาดเดิม เมื่อถูกขายตัดราคา คุณอาจเข้าไปตีตลาดใหม่ หรือทำแบรนด์สำรองขึ้นมาเพื่อตีตลาดสินค้าตัวเดิมโดยพยายามบริหารต้นทุนสินค้าตัวใหม่ให้ต่ำกว่าเดิม เพื่อขายในราคาถูกกว่าได้ กลยุทธ์นี้สามารถกวาดล้างส่วนแบ่งทางการตลาดได้ดีเลยทีเดียว
คลิกอ่านเพิ่มเติม : 10 เทคนิค การตั้งราคาสินค้า มีวิธีคิดราคาขายอย่างไรดี
ปัญหาการ ขายตัดราคา คือสงครามทางการตลาดที่หลายธุรกิจต้องเจอ โดยภายใต้สงครามราคานี้จะมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ หรืออาจบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย การตัดราคาขายสินค้าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะธุรกิจใหญ่ๆ แต่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็มักจะต่อสู้กันด้วยวิธีนี้ ซึ่งถ้าพูดกันตามตรงอาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีนัก การจะประสบความสำเร็จได้นั้น มีหลายกลยุทธ์ขึ้นอยู่ที่การวางแผนและการรับมือมากกว่า
สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มัวแต่ขายของจนไม่มีเวลามานั่งคิดกลยุทธ์ หรือแนวทางการรับมือกับการตัดราคาแข่งกัน เราขอแนะนำให้ลองมาใช้บริการ Fulfilment ของ Packhai บริการคลังสินค้าออนไลน์ที่ให้บริการเก็บ แพ็ค และส่งรวมไว้ในจุดเดียวกัน ช่วยให้คุณมีเวลาไปโฟกัสกับการขายและวางแผนการแข่งขันมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องคอยมานั่งปวดหัวกับงานหลังบ้าน – ดูบริการอื่นๆ เพิ่มเติมของ Fufillment Packhai คลิกที่นี่